วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ฆราวาสธรรม 4

หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน



ฆราวาสธรรม 4

               ฆราวาสธรรม หมายถึง ธรรมะของฆราวาส หรือ ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
               ฆราวาส หมายถึง ผู้ครองเรือน บางทีเรียกว่า คฤหัสถ์ หมายถึง บุคคลที่มิใช่นักบวชหรือพระสงฆ์ที่มีอาชีพแตกต่างกัน เช่น ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า ข้าราชการ นักศึกษา เป็นต้น
               ฆราวาสธรรม 4 ประการ
               1. สัจจะ (ความซื่อสัตย์)
               2. ทมะ (การฝึกตน)
               3. ขันติ (การอดทน)
              4. จาคะ (การบริจาค/การเสียสละ)

         1. สัจจะ (ความซื่อสัตย์)
          สัจจะ ในฆราวาสธรรม 4 หมายถึง ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ด้วยกายจริง คือ ประพฤติด้วยความสุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง วาจาจริง คือ พูดความจริง และใจจริง คือ มีความจริงใจ

         2. ทมะ (การฝึกตน)
         ทมะ ในฆราวาสธรรม 4 หมายถึง การฝึกฝน การฝึกตน ให้มีการปรับปรุงตัวทั้งในด้านจิตใจ และการกระทำ ด้วยปัญญาเพื่อปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องในหน้าที่การงานหรือสิ่งที่กระทำอยู่นั้น

        3. ขันติ (ความอดทน)
         ขันติ ในฆราวาสธรรม 4 หมายถึง ความอดทน อดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรค รวมถึงอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทางใจ อาทิ ความยากลำบากในการงาน คำด่าทอจากผู้อื่น

       4. จาคะ (การบริจาค/ความเสียสละ)
         จาคะ ในฆราวาสธรรม 4 หมายถึง การบริจาคหรือความเสียสละจากความสุข และผลประโยชน์ของตน รวมถึงการละจากกิเลส ทำให้เป็นผู้มีความใจกว้าง รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และพร้อมที่จะเผชิญกับความทุกข์ร่วมกับผู้อื่น

         หลักฆราวาสธรรม 4 มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความสงบสุขในสังคม หากคนในสังคมทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมนี้แล้ว ย่อมอำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติตามทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า ก่อให้เกิดความสุขสวัสดี มีความราบรื่นในการดำเนินชีวิต และยังทำให้องค์กรต่างๆ ตลอดจนสังคมเกิดความสงบเรียบร้อย และยังพบว่าหลักพุทธธรรมในข้อนี้ยังสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายทำงานได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย




1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ต้องใช้ความคิดของคูณวัดแจ้งนอกปีใหม่ที่มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นการแสดงของเขาที่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้า

    ตอบลบ