วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วิมุตติ 5

หลักธรรมแห่งความหลุดพ้น



วิมุตติ 5

                   วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ เป็นภาวะจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน ภาวะความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ลักษณะด้านหนึ่งของความเป็นอิสระ ในเมื่อไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็คือ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ อย่างที่ท่านเรียกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ หรือ โลภะ โทสะและโมหะ เพราะจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว ทำให้ไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ ยังเป็นหลักประกันให้ประกอบการงานอย่างสุจริตด้วย สามารถเป็นนายเหนืออารมณ์ วิมุตติ ประกอบด้วย 5 ประการคือ

                1. ตทังควิมุตติ คือ ความหลุดพ้นชั่วคราว หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เกิดความเจ็บปวด หายจากความโลภ เกิดเมตตา หายโกรธ เป็นต้น แต่ความโลภ ความโกรธนั้นไม่หายทีเดียว อาจจะกลับมาอีก เป็นต้น

                2. วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยการสะกดไว้ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยกำลังฌาน คือ สะกดไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อนั่งสมาธิสามารถสะกดข่มกิเลสไว้ เมื่อออกจากสมาธิกิเลสก็กลับมาอีกครั้ง เป็นต้น

               3. สมุจเฉทวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นเด็ดขาด หมายถึง ความพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจอริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ละกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป

               4. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยความสงบ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลส เนื่องมาจากอริยมรรคอริยผลไม่ต้องขวนขวายเพื่อละกิเลสอีก

               5. นิสสรณวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยสลัดออกไป หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสนั้นได้อย่างยั่นยืนตลอดไป ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ นิพพาน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น